ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล

​​​นโยบายการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของธนาคารเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อกำหนดทางการ จึงกำหนดนโยบายการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศธนาคารกสิกรไทยเพื่อเป็นแนวปฏิบัติของกรรมการและพนักงาน

 

ผู้มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสูงสุดที่รับผิดชอบในสายงานการเงินและควบคุม หรือผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ Chief Investor Relations Officer สามารถพิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อมูลที่สำคัญ เพื่อการพิจารณาเปิดเผย โดยจะชี้แจงข้อมูลด้วยตนเองหรืออาจมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจงก็ได้

ผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ Chief Investor Relations Officer มีอำนาจในการแถลงข่าว เผยแพร่ข้อมูลที่มีนัยสำคัญของธนาคาร ตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์

ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสื่อสารองค์การเป็นผู้ดำเนินการ โดยประสานงานกับเจ้าของข้อมูลโดยตรงในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญของธนาคารผ่านสื่อมวลชน

 

การเผยแพร่ข้อมูล

ข้อมูลของธนาคารต้องมีความถูกต้อง โปร่งใส เท่าเทียม ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา และสามารถแจกแจงข้อมูลต่างๆ ได้ชัดเจน เข้าใจง่าย และทันเวลา

การรายงานข้อมูลต่อหน่วยงานทางการ จะต้องเปิดเผยข้อมูลภายในกำหนดเวลาและความถี่ตามที่กฎหมายหรือหน่วยงานทางการ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารกำหนด ตามแต่ประเภทของข้อมูล

หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสื่อสารองค์การเป็นผู้ให้คำแนะนำและแนวทางในการสื่อสารกับสาธารณชน เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนในเรื่องใด ๆ ที่มีนัยสำคัญ ให้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของธนาคารด้วย

ข้อมูลสำคัญของธนาคารที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ของธนาคาร หรืออาจกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนหรือการประเมินธนาคาร หรือกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเผยแพร่อย่างเป็นทางการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว

 

ข้อละเว้น และการแก้ไขข้อผิดพลาดในการเปิดเผยข้อมูล

ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ หรือข้อมูลที่หากเปิดเผยแล้วอาจทำให้เสียประโยชน์ และความสามารถในการแข่งขัน หรือข้อมูลที่ยังไม่มีผลสรุปหรืออยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งมีความไม่แน่นอน และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่มีลักษณะเป็นการคาดคะเนเกินจริง หรือในเชิงส่งเสริมที่เกินความจำเป็นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุน โดยควรละเว้นการใช้ถ้อยคำ หรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม หรือที่อาจทำให้เข้าใจผิดต่อราคาหลักทรัพย์ของธนาคาร

ในกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลไม่ถูกต้อง ผิดพลาด คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง หรือมีการตีความ หรือแปลความหมายไม่ถูกต้องอย่างมีนัยสำคัญ ให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสูงสุดที่รับผิดชอบในสายงานการเงินและควบคุม หรือผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ Chief Investor Relations Officer มีอำนาจชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องโดยทันที

 

การให้ข้อมูลแก่บุคคลเฉพาะกลุ่ม

ให้หน่วยงานด้านสื่อสารองค์การ หรือ Chief Investor Relations Officer หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย รับผิดชอบการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารแก่สื่อมวลชน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้ถือหุ้น

เมื่อประชุม แถลงข่าว หรือให้ข้อมูลอื่นใดแก่สื่อมวลชน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลดังกล่าวจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้เปิดเผยหรือมติที่ประชุมบนเว็บไซต์ของธนาคารด้วย

 

การดำเนินการกรณีข้อมูลรั่วไหล หรือข่าวลือ

เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ ข่าวคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับธนาคาร หรือมีการอ้างอิงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือข้อมูลสำคัญรั่วไหลไปสู่บุคคลอื่น หรือถูกเปิดเผยก่อนเวลาอันควร และอาจก่อให้เกิดข่าวลือที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ และ / หรือการดำเนินงานของธนาคาร ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ Chief Investor Relations Officer ผู้บริหารหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสื่อสารองค์การ และ / หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รับผิดชอบในการชี้แจงข้อมูลสำคัญและข้อเท็จจริงที่ควรต้องแจ้ง ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและช่องทางการเปิดเผยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องโดยทันที

 

การห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ และงดให้ข้อมูล

เพื่อประโยชน์แห่งการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้กรรมการและพนักงานที่ถือเป็นบุคคลที่ล่วงรู้ หรือมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายในของธนาคารซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ ถือปฏิบัติดังนี้

  1. งดการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ที่ออกโดยธนาคารและสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงหุ้นสามัญของธนาคาร ก่อนการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อสาธารณชน โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกรรมการและพนักงาน
  2. งดการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการของธนาคาร ในระหว่างช่วงเวลา 7 วัน ก่อนวันที่ธนาคารจะเผยแพร่ผลประกอบการรายไตรมาสต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึง ไม่มีการนัดพบปะให้ข้อมูล จัดประชุมกลุ่ม หรือตอบข้อซักถามใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการ ให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และสื่อมวลชน และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมภายในที่ธนาคารกำหนดด้วย
การสื่อสารกับคณะกรรมการ

การจัดให้มีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถติดต่อสื่อสาร เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการธนาคาร

 

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียของธนาคาร อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ ภาครัฐ หน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อสื่อสาร เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ธนาคารจึงจัดให้มีช่องทางสื่อสารกับคณะกรรมการธนาคาร ตามวิธีการที่กำหนด

 

วิธีการติดต่อ

ผู้เสนอแนะสามารถสื่อสารไปยังคณะกรรมการธนาคาร โดยส่งเป็นหนังสือพร้อมระบุชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร และ E-mail (ถ้ามี) และความสัมพันธ์กับธนาคารของผู้เสนอแนะ ตามที่อยู่ดังนี้

เลขานุการคณะกรรมการ
บมจ. ธนาคารกสิกรไทย
เลขที่ 1 ซอยราษฎร์บูรณะ 27/1 ถนนราษฎร์บูรณะ
กรุงเทพฯ 10140

กรรมการอิสระของธนาคารจะเป็นผู้พิจารณาสั่งการและรายงานต่อคณะกรรมการธนาคาร และในกรณีที่ผู้แจ้งข้อมูลไม่เปิดเผยตนเอง ธนาคารจะพิจารณาประเด็นนั้นหากมีข้อมูลหรือข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์แก่องค์กร

นโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ

ธนาคารมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริต เป็นไปตามกฎหมาย และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยตระหนักว่าการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจรรโลงชื่อเสียงและเกื้อหนุนกิจการของธนาคาร จึงได้กำหนดนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับต้องถือปฏิบัติ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

 

ขอบเขตและแนวทางปฏิบัติ

ธนาคารให้ความสำคัญในการป้องกันมิให้เกิดการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  1. สินบนและสิ่งจูงใจ
    ห้ามให้หรือรับสินบนและสิ่งจูงใจในรูปแบบใด ๆ ทั้งสิ้น และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับสินบนและสิ่งจูงใจแทนตนเอง
  2. ของขวัญและผลประโยชน์
    ห้ามให้หรือรับของขวัญ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้เกิดการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรืออาจทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม และให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณของพนักงาน
  3. การบริจาคเพื่อการกุศลและการให้เงินสนับสนุน
    การบริจาคเพื่อการกุศลและการให้เงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม
  4. กิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
    ธนาคารจะไม่นำเงินทุนหรือทรัพยากรของธนาคารไปใช้สนับสนุนทางการเมืองให้แก่ผู้ลงสมัครแข่งขันเป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมืองใดเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยกเว้นการให้ความสนับสนุนนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และสนับสนุนประชาธิปไตยโดยรวม โดยต้องได้รับอนุมัติจากธนาคารก่อนการดำเนินการ

 

การบริหารความเสี่ยง

ธนาคารจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยกำหนดให้มีการระบุ การประเมิน การควบคุมและติดตาม และการรายงานความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบตามนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารกำหนด

 

การควบคุมภายใน

ธนาคารจัดให้มีการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของธนาคารและวัฒนธรรมการควบคุมที่ดี โดยมีการประเมินความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ กำหนดให้มีกิจกรรมการควบคุมที่มีประสิทธิผลและแบ่งแยกหน้าที่การทำงานที่เหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีระบบสารสนเทศที่เพียงพอน่าเชื่อถือ และติดตามประเมินผลการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ

 

การบริหารทรัพยากรบุคคล การสื่อสาร และการฝึกอบรม

ธนาคารให้ความสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล และมีการสื่อสาร ให้ความรู้ และฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

หลักการวางแผนภาษี

นโยบายการจัดการและการดำเนินการทางภาษีของธนาคาร

ธนาคารมีนโยบายด้านภาษีในการควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพื่อปกป้องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษี โดยนโยบายภาษีได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงตามหลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

นโยบายภาษีของธนาคาร

นโยบายภาษีของธนาคารยึดมั่นในหลักความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่หลีกเลี่ยงภาษี และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธนาคาร โดยดำเนินการให้มีการปฏิบัติงานด้านภาษีที่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและภาษีต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงต่อสาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้น และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและลูกค้า

ขั้นตอนการดำเนินการตามนโยบายภาษี

ธนาคารทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาษีระหว่างประเทศและบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาษีท้องถิ่นในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานด้านภาษีและติดตามข่าวสารด้านภาษีอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีกระบวนการการสอบทานการปฏิบัติงานโดยเจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบภายใน และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของธนาคารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินการด้านภาษีของธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมายในแต่ละประเทศ

ธนาคารมีการกำหนด “ระเบียบปฏิบัติ การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์” (Product Management Framework: PMF) เพื่อให้การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ / บริการของธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายด้านภาษีอากร พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่การทำงานของแต่ละส่วนงานของธนาคาร ซึ่งกระบวนการทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารของธนาคาร และจะต้องผ่านความเห็นชอบจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาษีระหว่างประเทศด้วยสำหรับประเด็นที่ต้องตีความข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการออก “นโยบายการบริหารความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานที่ผิดไปจากระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด จรรยาบรรณ” (Conduct Risk Management Policy) ซึ่งกำหนดให้พนักงานทุกระดับ และทุกฝ่ายงาน ช่วยกันกำกับดูแลให้พนักงานมีการปฏิบัติตามระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่มีต่อธนาคาร

ธนาคารมีสาขาเพียงหนึ่งแห่งที่ดำเนินธุรกิจอยู่ใน Tax Haven โดยเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนและจัดหาสภาพคล่องให้กับธนาคาร เพิ่มความหลากหลายและลดการกระจุกตัวของแหล่งเงินทุน ซึ่งธนาคารมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ธนาคารได้นำรายได้และรายจ่ายที่เกิดจากการประกอบกิจการทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายในประเทศไทย

ธนาคารกำหนดให้ใช้หลักการเปรียบเทียบระหว่างราคาโอนกับราคาพึงซื้อขายโดยสุจริต (Arm’s Length Price) ในการคิดราคาระหว่างกันสำหรับรายการบัญชีระหว่างธนาคารกับกิจการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้การรับรู้รายได้และรายจ่ายที่ใช้เป็นฐานในการเสียภาษีถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษี

ธนาคารตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร จึงจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน ซึ่งหนึ่งในความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร คือ ความเสี่ยงด้านภาษี โดยระบุถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ผลกระทบที่อาจมีต่อธนาคารทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน พร้อมทั้งออกแบบกระบวนการปฏิบัติงานและการควบคุมภายในเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว และมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ความเสียหายที่มีนัยสำคัญจากการปฏิบัติงาน ธนาคารจะปฏิบัติตาม “นโยบายการบริหารความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานที่ผิดไปจากระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด จรรยาบรรณ” (Conduct Risk Management Policy) อย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติตามจรรยาบรรณของพนักงาน

พนักงานต้องปฏิบัติตาม “จรรยาบรรณของกรรมการและพนักงาน” อย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านภาษีอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคาร และธนาคารได้มีการสื่อความและจัดอบรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อเน้นย้ำให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าว

จรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริต เป็นไปตามกฎหมาย หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ “กรีน ดีเอ็นเอ” ที่มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคารกสิกรไทยเพื่อให้คู่ค้าใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย และจรรยาบรรณของธนาคาร ตลอดจนมาตรฐานสากล โดยธนาคารให้ความสำคัญและสนับสนุนให้คู่ค้าของธนาคาร ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความเป็นธรรม ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามจรรยาบรรณนี้อย่างเคร่งครัด

 

นิยาม

คู่ค้า หมายถึง ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และ / หรือ ให้บริการแก่ธนาคารกสิกรไทย

 

ขอบเขตและแนวปฏิบัติ

จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics)

  • ความซื่อสัตย์
    ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ด้วยหลักการในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  • ความเป็นธรรม
    ปฏิบัติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี และไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า หรือสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
  • การรักษาความลับ
    ไม่เปิดเผยหรือนำข้อมูลความลับของธนาคาร ลูกค้า และคู่ค้า ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด
  • สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
    เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของธนาคารและผู้อื่น และระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว
  • ความรับผิดชอบต่อสังคม
    ยึดมั่นประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากร และมุ่งสร้างความเจริญให้สังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สิทธิมนุษยชนและแรงงาน (Human Rights and Labor)

  • การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
    เคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้าง โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันแรงงาน อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติ สิทธิความเป็นพลเมือง ความนิยมทางเพศ ความพิการ หรือเรื่องอื่นใด
  • การไม่บังคับใช้แรงงาน
    ไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการล่วงละเมิดหรือข่มขู่คุกคามแรงงานในทุกรูปแบบ
  • การคุ้มครองแรงงาน
  • การจ้างแรงงานเด็ก การใช้แรงงานสตรีมีครรภ์ และการจ้างแรงงานต่างด้าว ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  • การเลิกจ้างต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามกฎหมายแรงงานและต้องไม่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
  • ระยะเวลาการทำงาน
    ไม่ให้ลูกจ้างทำงานเป็นเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กรณีมีการทำงานล่วงเวลาต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกจ้าง รวมทั้งจัดให้มีวันหยุดและวันลาไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • การจ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์
    จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และผลประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และตรงตามกำหนดเวลา

ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย (Safety and Occupational Health)

จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และเอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิผล สอดคล้องตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดให้มีการควบคุมขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน

สิ่งแวดล้อม (Environment)

  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
  • ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

ค่าตอบแทนของกรรมการ

ธนาคารได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใส มีคณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนทำหน้าที่ทบทวน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ และเทียบเคียงกับอัตราค่าตอบแทนกรรมการในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับเดียวกัน

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 103 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 ได้อนุมัติอัตราค่าตอบแทนกรรมการและเงินบำเหน็จ โดยให้มีผลใช้บังคับไปจนกว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ซึ่งกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อยได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นกรรมการที่เป็นผู้บริหารจะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการชุดย่อย สรุปดังนี้

  1. ค่าตอบแทนกรรมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการ
    - ประธานกรรมการ 154,000 บาทต่อคนต่อเดือน
    - รองประธานกรรมการ 115,500 บาทต่อคนต่อเดือน
    - กรรมการ 100,000 บาทต่อคนต่อเดือน
  2. ค่าตอบแทนกรรมการอิสระ
    - ประธาน 100,000 บาทต่อคนต่อเดือน
    - กรรมการ 70,000 บาทต่อคนต่อเดือน
  3. ค่าตอบแทนกรรมการชุดย่อย
    1. คณะกรรมการตรวจสอบ
      - ประธาน 90,000 บาทต่อคนต่อเดือน
      - กรรมการ 60,000 บาทต่อคนต่อเดือน
    2. คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ
      - ประธาน 50,000 บาทต่อคนต่อเดือน
      - กรรมการ 36,000 บาทต่อคนต่อเดือน
    3. คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน
      - ประธาน 50,000 บาทต่อคนต่อเดือน
      - กรรมการ 36,000 บาทต่อคนต่อเดือน
    4. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ
      - ประธาน 50,000 บาทต่อคนต่อเดือน
      - กรรมการ 36,000 บาทต่อคนต่อเดือน
  4. ค่าตอบแทนที่ปรึกษากฎหมาย 330,000 ต่อคนต่อเดือน
  5. เงินบำเหน็จคณะกรรมการ ในอัตราร้อยละ 0.5 ของเงินปันผล

รายละเอียดค่าตอบแทนของกรรมการ ในรอบปี 2558 ประกอบด้วย

  1. ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
    คณะกรรมการธนาคารได้รับค่าตอบแทนในฐานะกรรมการธนาคาร กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการกำกับดูแลกิจการ กรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน กรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ ที่ปรึกษากฎหมายของธนาคาร รวมถึงเงินบำเหน็จในอัตราร้อยละ 0.5 ของเงินปันผล รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 85,759,203 บาท
  2. ค่าตอบแทนอื่น
    ไม่มี

ค่าตอบแทนของผู้บริหาร

คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนเป็นผู้พิจารณาและนำเสนอค่าตอบแทนของผู้บริหารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมการธนาคาร เพื่อพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนตามนโยบายของธนาคาร โดยค่าตอบแทนของผู้บริหาร รวมถึงค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของธนาคารทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และผลการปฏิบัติงานรายบุคคล โดยเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานทั้งที่เป็นตัวชี้วัดทางด้านการเงิน ตัวชี้วัดด้านลูกค้า ตัวชี้วัดด้านการพัฒนากระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งตัวชี้วัดด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ที่โปร่งใส และตามขอบเขตความรับผิดชอบของตำแหน่งงาน ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของธนาคารเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศไทย

ระหว่างปี 2556-2558 ค่าตอบแทนประจำของผู้บริหารระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 65-67 เมื่อเทียบกับค่าตอบแทนทั้งหมด โดยค่าตอบแทนตามผลงานรายบุคคล คิดเป็นร้อยละ 33-35

รายละเอียดค่าตอบแทนของผู้บริหาร ในรอบปี 2558 ประกอบด้วย

  1. ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
    ผู้บริหารระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการหรือเทียบเท่าขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 65 คน ได้รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน ค่าครองชีพ บำเหน็จพิเศษ และโบนัส รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 707,164,488 บาท ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสหรือเทียบเท่าขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 10 คน ได้รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน ค่าครองชีพ บำเหน็จพิเศษ และโบนัส รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 200,620,741 บาท
  2. ค่าตอบแทนอื่น
    ผู้บริหารของธนาคารได้รับผลประโยชน์และสวัสดิการอื่นๆ ตามระเบียบของธนาคารเช่นเดียวกันกับพนักงาน เช่น สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การตรวจสุขภาพ สวัสดิการเงินกู้ประเภทต่างๆ รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งธนาคารได้จ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่สมทบให้ ผู้บริหารระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการหรือเทียบเท่าขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 65 คน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 16,839,661 บาท ซึ่งเป็นเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่สมทบให้ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสหรือเทียบเท่าขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 10 คน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,732,650 บาท
นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นความรับผิดชอบสำคัญของธนาคารกสิกรไทยและยังมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ให้เป็นที่รับรู้ทั่วทั้งองค์กร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของเราในการมองเห็นและจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของเรา กระบวนการด้านแรงงานสัมพันธ์ของธนาคารดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานสากลที่สำคัญ อาทิ หลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (Principles of the United Nations Global Compact – UNGC)


ขอบข่าย

นโยบายฉบับนี้ใช้กับธนาคารกสิกรไทย บริษัทของธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งได้รวบรวมและเสนอแนะแนวทางด้านการดำเนินนโยบายและกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และเข้าใจง่าย หน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชนของธนาคารครอบคลุมการปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่ให้การปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งของประเทศไทยและระหว่างประเทศ


ลำดับความสำคัญ

เราตระหนักดีถึงความรับผิดชอบโดยตรงต่อผลกระทบอันเกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคารที่มีต่อพนักงาน คู่ค้า และลูกค้าของเรา ธนาคารจึงมุ่งมั่นที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้การดำเนินงานของเราผ่านนโยบายและกระบวนการต่างๆ นอกจากนี้ นโยบายของเรายังกำหนดให้มีการนำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาในขั้นตอนการจัดซื้อจัดหาและอนุมัติเงินกู้ด้วย ส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชนมีดังนี้

- นโยบายเครดิต
- จรรยาบรรณพนักงาน
- จรรยาบรรณคู่ค้า

เราวางแนวทางในด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการที่นำมาใช้ในการสอบทานธุรกิจและบรรเทาผลกระทบ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้

ลูกค้า

เงินกู้
ธนาคารดำเนินนโยบายเครดิตโดยให้ความเคารพและใส่ใจกับความสำคัญของประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดว่าธุรกรรมกู้ยืมจะต้องไม่เชื่อมโยงกับธุรกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การค้ามนุษย์ หรือการหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย หรือที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคมและหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของแต่ละอุตสาหกรรม

การลงทุน
เรามุ่งมั่นที่จะนำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG) ซึ่งจะนำไปใช้กับการวิเคราะห์การลงทุน ขั้นตอนการตัดสินใจและการสร้างพอร์ตในสินทรัพย์ทุกประเภท

พนักงาน

ธนาคารได้นำเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนบรรจุในจรรยาบรรณพนักงาน ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ธนาคารยังได้สร้างความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้แก่พนักงาน เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานจะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังได้จัดหาช่องทางในการรับข้อมูลและคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขต่อไป

ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการจัดการด้านความหลากหลายในที่ทำงาน โดยให้ความเท่าเทียมในด้านเพศ อายุ การศึกษา และสัญชาติ เรามี นโยบายปฏิบัติกับพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ตลอดจนมีแนวทางป้องกันและมาตรการต่อต้านการล่วงละเมิดที่มีสาเหตุจากเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติ สิทธิความเป็นพลเมือง วิถีทางเพศ หรือความพิการ ธนาคารห้ามการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย และยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ

คู่ค้า

เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ธนาคารกสิกรไทยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมต่างๆ อาทิ การค้าที่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และปัญหาแรงงาน โดยได้ใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า ทั้งยังได้มีการระบุถึงปัจจัยดังกล่าวในสัญญาที่เกี่ยวข้องด้วย เรามีความคาดหวังที่ชัดเจนต่อคู่ค้าของเราในการจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร

ธนาคารได้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ในกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนด้วย เราวัดระดับความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กระบวนการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้คู่ค้าทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนการประเมินดังกล่าวอย่างครบถ้วนเช่นกัน