บทบาทความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

​​​​​​​​คณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการอิสระ
คณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมก​ารกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน
1. ศาสตราจารย์กิตติคุณ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ประธานกรรมการ
2. ดร.อภิชัย จันทรเสนกรรมการ
3. ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์กรรมการ
4. นายกลินท์ สารสินกรรมการ

บทนำ

คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ("ธนาคาร") ในการประชุม ครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545


ความมุ่งหมาย

คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ("คณะกรรมการ") ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคาร ในความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการธนาคาร


วัตถุประสงค์

คณะกรรมการมีบทบาทในการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคาร เกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนของประธานกรรมการ และกรรมการธนาคาร (โดยขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในภายหลัง) นอกจากนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่จัดทำนโยบายอัตราค่าตอบแทน และกำหนดเงื่อนไขในการว่าจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร

คณะกรรมการมีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และทบทวนแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และพนักงานในตำแหน่งที่สำคัญที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือกรรมการผู้จัดการได้จัดทำไว้

คณะกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคารและติดตามดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ทางด้านทรัพยากรบุคคลของธนาคาร รวมทั้งแผนงานพัฒนาผู้บริหารของธนาคารด้วย

คณะกรรมการจะทำการสรรหาและนำชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเป็นครั้งแรก และพิจารณาผลงาน คุณสมบัติ และความเหมาะสมของกรรมการที่พ้นตำแหน่งและสมควรได้รับเลือกตั้งใหม่ เสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคาร


โครงสร้างคณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน

คณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย กรรมการธนาคารที่ไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร ไม่น้อยกว่า 3 คน คณะกรรมการธนาคารจะแต่งตั้งประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดวาระการประชุมและดำเนินการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร

กรรมการในคณะกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งต่อได้

ให้ผู้บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

คณะกรรมการอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอิสระได้ ในกรณีที่จำเป็นด้วย ค่าใช้จ่ายของธนาคาร เช่น การสำรวจสภาพตลาด การจ้างงาน การสำรวจเงินเดือน สรรหากรรมการและผู้บริหารของธนาคาร เป็นต้น


อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ

คณะกรรมการมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่

กลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล

  1. พิจารณาและให้ความเห็นต่อข้อเสนอของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ / หรือ กรรมการผู้จัดการ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของธนาคาร
  2. สร้างความมั่นใจว่าแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งที่สำคัญ และรายชื่อผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาได้รับการทบทวนอยู่เสมอเป็นระยะๆ

กลยุทธ์ด้านผลประโยชน์ตอบแทน

  1. ทบทวนกลยุทธ์ในการให้ผลประโยชน์ตอบแทน และเสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อรับรอง
  2. ทบทวนและเสนอคณะกรรมการธนาคาร เพื่อการจัดการให้มีสิ่งจูงใจแก่พนักงานในผลการปฏิบัติงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการพิจารณาให้ถือหุ้นของธนาคารด้วย
  3. ให้คำเสนอแนะแก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ถึงการพิจารณาเงินเดือนหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร
  4. พิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับนโยบายและรูปแบบของการให้ผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งออกแบบไว้สำหรับการจูงใจ และรักษาไว้ซึ่งพนักงานที่มีความสามารถ มีคุณภาพ และมีศักยภาพ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ

  1. ช่วยดูแลให้มีระบบสำหรับคณะกรรมการธนาคารในการประเมินผลงานและความสามารถในการทำงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการทำธุรกิจของธนาคาร
  2. กำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการว่าจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ รวมถึงผลประโยชน์ตอบแทนด้วย
  3. วางแผนหาผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ โดยพิจารณาจากผู้บริหารของธนาคารหรือบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
  4. สรรหาและเสนอแนะแก่คณะกรรมการธนาคาร เพื่อพิจารณาผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ เมื่อถึงคราวจำเป็น

คณะกรรมการธนาคาร

  1. ทบทวนสัดส่วน จำนวน และความหลากหลายขององค์ประกอบของคณะกรรมการธนาคารอย่างสม่ำเสมอ
  2. ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการธนาคารในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการธนาคาร เพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเพื่อการแต่งตั้งต่อไป
  3. ทบทวนผลประโยชน์ตอบแทนของคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับความรับผิดชอบเปรียบเทียบได้กับของธนาคารอื่น ๆ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร เพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  4. ทบทวนผลการปฏิบัติงานตามแบบประเมินของธนาคารในรอบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยพิจารณาข้อคิดเห็นและการประเมินของประธานกรรมการธนาคาร
  5. รับพิจารณาในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ
1. นางสุจิตพรรณ ล่ำซำประธานกรรมการ
2. นายปรีดี ดาวฉายสมาชิก
3. นายธีรนันท์ ศรีหงส์สมาชิก
4. นางสาวขัตติยา อินทรวิชัยสมาชิก
5. นายพิพิธ ​เอนกนิธิสมาชิก
6. นายสาระ ล่ำซำสมาชิก
7. นายธิติ ตันติกุลานันท์สมาชิก
8. นายสมคิด จิรานันตรัตน์สมาชิก
9. นายจงรัก รัตนเพียรสมาชิก
10. นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูรสมาชิก

บทนำ

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ ตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) ในการประชุมครั้งที่ 3/2546 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2546


ความมุ่งหมาย

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคารรับผิดชอบในการสอดส่องดูแลกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การจะต้องมั่นใจว่า กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (“กลุ่มธุรกิจทางการเงิน”) มีแผนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลและครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด รวมถึงการกำหนด ประเมิน ลดความเสี่ยง ติดตามความเสี่ยง และรายงานความเสี่ยงให้คณะกรรมการธนาคารได้รับทราบ


วัตถุประสงค์

ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การต้องดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลกับคณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การแต่ละคนต้องมีความเข้าใจในความรับผิดชอบตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร มีความเข้าใจในธุรกิจ การดำเนินการและการควบคุมความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน


โครงสร้างของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ

  1. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคาร
  2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การประกอบด้วยสมาชิกไม่น้อยกว่า 7 คน ประกอบด้วย กรรมการธนาคาร และ / หรือ ผู้บริหาร ที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าครอบคลุมความรับผิดชอบ ในการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
  3. องค์ประชุมของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก ในคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ
  4. ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคาร โดยพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการธนาคารที่เหมาะสม
  5. ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ
  6. ให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การมีการประชุมไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง และอาจจะมีการประชุมเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ต้องการ
  7. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การอาจเชิญบุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมตามความจำเป็น ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในวาระที่พิจารณาในที่ประชุม
  8. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี สมาชิกที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งต่อได้
  9. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอิสระได้ในกรณีที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร
  10. เลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม การจัดการประชุม เตรียมวาระการประชุม เอกสารประกอบการประชุม จัดส่งวาระการประชุม และเอกสารประกอบการประชุมให้แก่สมาชิกทุกคนภายในระยะเวลาที่เพียงพอ เพื่อให้สมาชิกได้สอบทานข้อมูลอย่างละเอียด หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการประชุม ภายหลังการประชุม เลขานุการต้องจัดส่งรายงานการประชุมให้แก่สมาชิกทุกคนภายใน 7 วันทำการ หลังจากการประชุมแต่ละครั้ง การรับรองรายงานการประชุมจะดำเนินการในการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การครั้งต่อไป

อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การมีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฉบับนี้และมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล
  2. กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง และขอบเขตความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาในเรื่องการบริหารความเสี่ยงโดยรวม ทั้งนี้ ต้องครอบคลุมความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
  3. กำหนดกลยุทธ์โครงสร้างองค์การและทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยสามารถวิเคราะห์ ประเมิน วัดผล และติดตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผล
  4. กำหนดวงเงินสูงสุดตามขอบเขตความเสี่ยงที่กำหนด (Risk Limit) ในมิติต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณา
  5. กำกับดูแล ทบทวนและให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง วิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน กลยุทธ์ และการวัดความเสี่ยงโดยรวมเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงได้นำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม

ความรับผิดชอบในการรายงาน

  1. ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การต้องรายงานสถานะความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีผลต่อขอบเขตความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ต่อคณะกรรมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า นโยบายและระบบการบริหารความเสี่ยงได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อองค์กร
  2. ต่อคณะกรรมการธนาคาร
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ ต้องรายงานต่อคณะกรรมการธนาคารในเรื่องต่อไปนี้
    1. รายงานต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับผลกระทบในภาพรวม (Portfolio Exposure) และการเปลี่ยนแปลงกรอบความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
    2. รายงานสถานะความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีต่อขอบเขตความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) เมื่อเวลาเหมาะสม
    3. สร้างความมั่นใจว่า คณะกรรมการธนาคารได้รับทราบและตระหนักถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
  3. ต่อผู้ถือหุ้น
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ ต้องจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในนามคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นภาคผนวกในรายงานประจำปีและรายงานทางการเงิน
คณะจัดการ
1. นายบัณฑูร ล่ำซำ
2. นายปรีดี ดาวฉาย
3. นายธีรนันท์ ศรีหงส์
4. นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย
5. นายพิพิธ เอนกนิธิ
6. ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย
7. นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร
8. นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง
9. นายสมคิด จิรานันตรัตน์
10. นายธิติ ตันติกุลานันท์
11. นายพัชร สมะลาภา
12. นายอำพล โพธิ์โลหะกุล
13. นายภานพ อังศุสิงห์
14. ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์
15. นายจงรัก รัตนเพียร
16. นางนพวรรณ เจิมหรรษา
17. นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์
18. นายศีลวัต สันติวิสัฏฐ์
19. นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา
20. นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ
21​​​. นายอนันต์ ลาภสุขสถิต
22​​​. นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์

บทนำ

คณะจัดการตั้งขึ้นตามข้อบังคับของ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 88 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543


วัตถุประสงค์

คณะจัดการตั้งขึ้นเพื่อจัดการงานและดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด เพื่อก้าวไปสู่การมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคตและให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ และจรรยาบรรณทางธุรกิจรวมทั้งหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


โครงสร้างของคณะจัดการ

  1. คณะกรรมการธนาคารแต่งตั้งคณะจัดการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร สมาชิกคณะจัดการ ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ พนักงาน และบุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควร
  2. คณะจัดการประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสม และเป็นผู้มีวิจารณญาณที่ดีในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธานคณะจัดการโดยตำแหน่ง
  4. ประธานคณะจัดการเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการของคณะจัดการ
  5. ให้คณะจัดการมีการประชุมตามเวลาที่สมควร แต่ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เว้นแต่จำเป็น หรือไม่มีกิจการงานที่จะประชุมกัน หรือมีเหตุสมควรที่ว่าจะไม่มีการประชุม
  6. ให้องค์ประชุมคณะจัดการ ประกอบด้วย จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกคณะจัดการทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือบุคคลที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมอบหมายร่วมอยู่ด้วย
  7. สมาชิกคณะจัดการทุกคนมีหน้าที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งอาจเป็นการเข้าประชุมด้วยตนเองหรือการร่วมประชุมทางโทรศัพท์ก็ได้ (การประชุมทางโทรศัพท์ไม่นับเป็นองค์ประชุม)
  8. คณะจัดการอาจเชิญบุคคลอื่นรวมทั้งตัวแทนผู้บริหารระดับสูงที่มีความเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในวาระที่พิจารณาในที่ประชุมเข้าร่วมประชุมตามความจำเป็น
  9. คณะจัดการอาจปรึกษากรรมการที่ปรึกษาแก่คณะจัดการ
  10. เลขานุการคณะจัดการมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดวาระการประชุม โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานคณะจัดการ และมีหน้าที่ในการจัดการประชุม รวบรวมและจัดเตรียมเอกสารประกอบการประชุม และจัดส่งวาระการประชุมพร้อมเอกสารใช้ในการประชุมให้สมาชิกแต่ละคนก่อนการประชุม 2 วัน เพื่อให้สมาชิกได้ทบทวนข้อมูลอย่างละเอียด หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการประชุม
  11. เลขานุการคณะจัดการจะต้องจัดทำรายงานการประชุมทุกครั้ง ให้ที่ประชุมรับรองในครั้งถัดไป

อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ

  1. คณะจัดการมีอำนาจหน้าที่จัดการงานและดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด หรือได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารให้ดำเนินการเฉพาะกรณี
  2. คณะจัดการมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของธนาคารตามนโยบายและแผนงานที่กำหนดไว้
  3. คณะจัดการมีอำนาจตามที่คณะกรรมการธนาคารมอบอำนาจและตามที่กำหนดในอำนาจดำเนินการของธนาคาร
  4. ประธานคณะจัดการต้องจัดส่งรายงานการประชุมคณะจัดการให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อรับทราบถึงกิจการที่คณะจัดการได้ทำไปแล้ว อย่างไรก็ดี กิจการดังต่อไปนี้ให้เสนอเพื่อรับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารก่อน
    1. เรื่องเกี่ยวกับนโยบายของธนาคาร
    2. เรื่องที่หากทำไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญแก่กิจการของธนาคาร
    3. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยคณะกรรมการธนาคารเอง
    4. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ธนาคารวางไว้
    5. เรื่องที่คณะจัดการเห็นสมควรเสนอเพื่ออนุมัติเป็นรายเรื่อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธนาคารได้วางไว้ เช่น เรื่องการอนุมัติเครดิต เป็นต้น
  5. คณะจัดการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนดเพื่อบริหารธนาคารให้ประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายของธนาคาร ซึ่งรวมถึง
    1. จัดทำและสอบทานวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ แผนทางการเงินและนโยบายที่สำคัญของธนาคาร และนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติ
    2. พิจารณากลั่นกรองแผนธุรกิจประจำปี งบประมาณค่าใช้จ่ายประเภททุน เป้าหมายการปฏิบัติงาน รวมถึงสิ่งที่ต้องริเริ่มต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคาร เพื่อพิจารณาอนุมัติ
    3. พิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีค่าใช้จ่ายประเภททุนที่เกินวงเงินที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติ
    4. พิจารณาและอนุมัติในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในอำนาจดำเนินการหรือได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการธนาคาร
    5. พิจารณาทบทวนอำนาจดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในตารางการมอบอำนาจ และนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติ
    6. จัดการและสร้างสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ในระยะสั้นและวัตถุประสงค์ในระยะยาว
    7. พัฒนาและดูแลทรัพยากรบุคคลให้ดำเนินไปตามกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลที่คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนได้ให้ความเห็นชอบไว้
    8. ติดตามและรายงานต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของธนาคารและความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของธนาคาร
    9. ติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานทุกระดับเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงตามแนวทางที่ธนาคารกำหนด รวมทั้งประสิทธิผลของการควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง
    10. สอบทานกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ริเริ่มใหม่ที่สำคัญ และนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาติดตามและอนุมัติ
    11. ติดต่อสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์การตามความจำเป็นในแต่ละครั้ง ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย
บทบาทหน้าที่เลขานุการบริษัท

คณะกรรมการธนาคารได้แต่งตั้ง ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เป็นเลขานุการบริษัทและเลขานุการคณะกรรมการ โดยมีสำนักเลขานุการบริษัท สายงานเลขาธิการองค์การ เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานเลขานุการบริษัท


คุณสมบัติและประสบการณ์

  1. มีความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจ บัญชี กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร หรือผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการบริษัท
  2. มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และข้อพึงปฏิบัติที่ดีของการกำกับดูแลกิจการ
  3. มีความเป็นอิสระและตรงไปตรงมาในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในด้านการให้ข้อแนะนำและข้อคิดเห็นต่างๆ
  4. มีประสบการณ์ในงานเลขานุการคณะกรรมการ หรือคุณสมบัติอื่นที่ช่วยให้งานเลขานุการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

หน้าที่และความรับผิดชอบหลักได้แก่

  1. ให้ข้อแนะนำเบื้องต้นแก่กรรมการเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการ ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของธนาคาร ติดตามให้มีการปฏิบัติตามอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ รวมถึงรายงานการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญแก่กรรมการ
  2. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ ให้ข้อมูล และผลักดันคณะกรรมการธนาคารให้ปฏิบัติตาม รวมทั้งให้มีการตรวจสอบผลการปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักการดังกล่าว
  3. จัดเตรียมระเบียบวาระการประชุม เอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหุ้น และการประชุมคณะกรรมการธนาคาร
  4. จัดการประชุมผู้ถือหุ้นและการประชุมคณะกรรมการธนาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับของธนาคาร และข้อพึงปฏิบัติที่ดี
  5. บันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นและการประชุมคณะกรรมการธนาคาร รวมทั้งติดตามให้มีการปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นและที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร
  6. จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนกรรมการ รายงานประจำปีของธนาคาร หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น หนังสือนัดประชุมคณะกรรมการธนาคาร รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคาร
  7. ดำเนินการให้กรรมการและผู้บริหารจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนและผู้ที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดกฎหมาย
  8. เก็บรักษารายงานการมีส่วนได้เสียที่รายงานโดยกรรมการหรือผู้บริหาร และส่งสำเนาให้ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนด
  9. ดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลและรายงานสารสนเทศในส่วนที่รับผิดชอบต่อหน่วยงานที่กำกับธนาคาร ตามระเบียบและข้อกำหนดของหน่วยงานทางการ
  10. ติดต่อและสื่อสารกับผู้ถือหุ้นเพื่อให้ได้รับทราบสิทธิต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้นและข่าวสารของธนาคาร และเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ถือหุ้น บคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหาร
  11. ดูแลกิจกรรมของคณะกรรมการธนาคาร
  12. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการธนาคาร และรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการธนาคาร
  13. ติดตามกฎหมาย ข้อกำหนด และข้อพึงปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารและกรรมการ เพื่อการให้คำแนะนำเบื้องต้น
  14. ประสานงานระหว่างคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารของธนาคาร​